วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สุวัณณหังสชาดก

สุวัณณหังสชาดก

        ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีชื่อ ถุลลนันทา ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคกระเทียม สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง มีภรรยาและลูกสาว ๓ คน ชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา พอลูกสาวทั้ง ๓ ได้สามีแล้วทุกคน พราหมณ์ก็เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำระลึกชาติได้
        วันหนึ่งได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและลูกสาวของตนที่ต้องรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพ จึงเกิดความสงสาร ได้โผบินไปจับที่บ้านนางพราหมณี
        แล้วเล่าเรื่องราวให้นางพราหมณีและลูกสาวฟัง และได้สลัดขนให้แก่พวกเขาเหล่านั้นคนละหนึ่งขนแล้วก็บินหนีไป 
        หงส์ทองได้มาเป็นระยะๆ มาครั้งใดก็สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขนโดยทำนองนี้ นางพราหมณีและลูกสาวจึงร่ำรวยและมีความสุขไปตามๆ กัน
        ต่อมาวันหนึ่งนางพราหมณีเกิดความโลภอยากได้มากกว่าเดิมจึงปรึกษากับลูกๆ ว่า
      "ถ้าหงส์มาครั้งนี้ พวกเราจะจับถอนขนเสียให้หมด เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมาก"
        พวกลูกๆ ไม่เห็นดีด้วย แต่นางพราหมณีไม่สนใจ ครั้งวันหนึ่งพญาหงส์ทองมาอีก นางก็ได้จับถอนขนเสียให้หมด 
        ขนเหล่านั้นกลายเป็นขนนกธรรมดาเท่านั้น เพราะพญาหงส์ทองมิได้ให้ด้วยความสมัครใจ 
        นางพราหมณีได้เลี้ยงหงส์นั้นจนขนงอกขึ้นมาใหม่เต็มตัว หงส์ก็ได้บินหนีไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย
        พระพุทธองค์ เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า
     
"บุคคลได้สิ่งใดควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณเป็นความชั่วแท้ นางพราหมณีจับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ"

การบำเพ็ญทุกรกิริยา

 การบำเพ็ญทุกรกิริยา

        การบำเพ็ญทุกรกิริยา  หมายถึง กิริยาที่ทำได้ยาก  อาทิ การลดปริมาณในการรับประทานอาหาร จนถึงขั้นไม่รับประทานเลย  การกลั้นลมหายใจ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เป็นวิธีของโยคี 
        หลังจากโยคีสิทธัตถะทรงศึกษาจากสำนักอุทกดาบส รามบุตร และอุทกดาบสจนสำเร็จสมาบัติ 7 จากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และสมาบัติ 8 แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าวิชาที่ศึกษามายังมิใช่หนทางแห่งโพธิญาณ จึงอำลาออกจากสำนัก 

        เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย ที่จะคิดค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง แทนที่จะ ทรงเล่าเรียนในสำนักอาจารย์ทั้งสองแล้ว 
        พระองค์เริ่มด้วยการทรมานพระวรกายตามวิธีการของโยคี เรียกว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา  ณ บริเวณแม่น้ำเนรัญชรา  ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีปัญจวัคคีย์ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เป็นอุปัฏฐาก 
        พระองค์ทรงกระทำทุกรกิริยา เช่น ลดอาหารลงทีละน้อยจนถึงงดเสวย ร่างกายซูบผอม พระโลมา ( ขน ) มีรากเน่าหลุดออกมา แลเห็นพระอัฐิได้ชัดเจนทั่วพระวรกาย การกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ 
        ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาติดต่อกันเป็นเวลานาน 6 ปี จนมีพระวรกายผ่ายผอมแต่ก็ยังคงไม่ได้พบหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ 
        เพราะเป็นการปฏิบัติฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค ในที่สุดพระองค์จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา 
        แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง จะได้มี กำลังในการคิดค้นพบวิธีใหม่ 
        ขณะที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นั้น ปัญจวัคคีย์ คอยปรนนิบัติรับใช้ ด้วยความหวังว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พวกตนจะได้รับการถ่ายทอดโมกขธรรมบ้าง 
        เมื่อพระองค์ล้มเลิก การบำเพ็ญ   ทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งพระองค์ไปทั้งหมด 
        เป็นผลทำให้พระองค์ได้อยู่ตามลำพังในที่สงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง พวกปัญจวัคคีย์ได้หนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี 
        พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติและเดินทางสายกลาง คือ การปฏิบัติในความพอเหมาะพอควรหรือเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

นันทิวิสาลชาดก

นันทิวิสาลชาดก

        ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีภิกษุ ๖ รูป เรียกว่า พระฉัพพัคคีย์ เป็นผู้ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ชอบก่อกวน กลั่นแกล้ง หาเรื่องทะเลาะวิวาท พูดจาข่มขู่ เสียดสีภิกษุอื่นๆ อยู่เสมอ 
        จนกระทั่งความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงกล่าวตำหนิโทษพระฉัพพัคคีย์ 
        แล้วตรัสให้โอวาทว่า “ผู้กล่าววาจาหยาบคาย ย่อมนำความฉิบหายมาให้ตนเอง เพราะเขาย่อมไม่เป็นที่พอใจของใครๆ แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานก็ตาม” 
        แล้วพระพุทธองค์ทรงนำ นันทิวิสาลชาดก มาตรัสเล่าเป็นอุทาหรณ์ สอน ฉัพพัคคีย์ เป็นนิทานมาสาธก ว่า... 
        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าคันธาระ ครองเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคนามว่า นันทิวิสาล 
        เป็นโคมีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่งได้เลี้ยงและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทนบุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ในวันหนึ่ง ได้พูดกะพราหมณ์ว่า  
        "พ่อ จงไปท้าพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเราสามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่ม ที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้ พนันด้วยเงินหนึ่งพันกหาปณะเถิด" 

        พราหมณ์ได้ไปที่บ้านเศรษฐี และตกลงกันตามนั้น นัดเดิมพันกันในวันรุ่งขึ้น ในวันเดิมพัน 
        พราหมณ์ได้เทียมโคนันทวิสาล เข้าที่เกวียนเล่มแรก เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มผูกติดกัน ซึ่งบรรทุกทราย กรวดและหินเต็มลำ แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า 
      "ไอ้โคโกง โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้
ฝ่ายโคนันทิวิสาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น ก็คิดน้อยใจว่า 
      "พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง ว่าโกง ผู้ไม่โง่ ว่าโง่" 

        จึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว โควินทกเศรษฐี จึงเรียกให้พราหมณ์นำเงินหนึ่งพันกหาปณะมาให้แล้วกลับบ้านไป
        ฝ่ายพราหมณ์ผู้แพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ ปลดโคแล้วก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน ส่วนโคนันทิวิสาลเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า 
      "พ่อ ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม เคยเหยียบใครๆ เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่ เพราะเหตุใด ท่านจึงเรียกเราว่า โคโกง โคโง่ ครั้งนี้เป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของฉัน บัดนี้ ขอให้ท่านไปเดิมพันกับโควินทกเศรษฐีใหม่ด้วยเงินสองพันกหาปณะ ขออย่างเดียว ท่านอย่าได้เรียกฉันว่า โคโกง โคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา ฉันจะไม่ทำให้ท่านเศร้าเสียใจ"

        พราหมณ์ได้ทำตามที่โคนันทิวิสาลบอก ในวันเดิมพัน พราหมณ์จึงพูดหวานว่า 
      "นันทิวิสาลลูกรัก เจ้าจงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด" 

        โคนันทวิสาลได้ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยการออกแรงลากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไปตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่ 
        ทำให้พราหมณ์ชนะพนัน ด้วยเงินสองพันกหาปณะพระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วตรัสว่า
      "ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า คำหยาบ ไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน" 

แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า
      "บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในกาลใดๆ เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลได้ลากสัมภาระอันหนักได้ ทั้งยังทำให้พราหมณ์ผู้นั้นได้ทรัพย์อีกด้วย ส่วนตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย

ความหมาย - ประเภทชาดก

ความหมาย - ประเภทชาดก

        ชาดก แปลว่า ประวัติการทำความดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีมาในชาติก่อน ๆ
        นิทาน ตามพจนานุกรม มาจาก (มค. นิทาน) น. เหตุ ; เรื่องเดิม ; คำเล่าเรื่อง, เรื่องนิยาย
นิทาน แปลว่า เหตุเป็นเครื่องมอบให้ซึ่งผล, มูลเค้า, เรื่องเดิม, สมุฏฐาน 
        ชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่างๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
        กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่า เรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดี ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้    
        นิทานชาดก   มิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดก  คือ  เรื่องในอดีตชาติของ พระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่าง ๆ บางครั้งก็เพื่อแสดงภูมิหลังของผู้ที่พระองค์ต้องการแสดงธรรมให้ฟัง บางครั้งก็เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
        ชาดก   เป็นเรื่องที่มีมาก่อนพุทธกาล  เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์
ชาดกมี 2 ประเภท  คือ

        1. นิบาตชาดก   เป็นชาดกในพระไตรปิฎกมี 500 เรื่อง   แบ่งออกเป็นหมวดๆ  ตามจำนวนคาถา  

นับตั้งแต่ 1 คาถาถึง 80 คาถา   
ชาดกที่มี 1 คาถาเรียกว่า เอกนิบาต
ชาดกที่มี 2 คาถาเรียกว่า  ทุกนิบาต
ชาดกที่มี  3 คาถาเรียกว่า ตักนิบาต
ชาดกที่มี  4 คาถาเรียกว่า  จตุคนิบาต
ชาดกที่มี  5 คาถาเรียกว่า  ปัญจกนิบาต
        ชาดกที่มีเกิน 80 คาถาขึ้นไปเรียกว่า  มหานิบาตชาดก  ซึ่งมี 10 เรื่อง  เรียก  ทศชาติ  หรือ  พระเจ้าสิบชาติ

        2. ปัญญาสชาติชาดก  คำว่า ปัญญาสชาดก (ปัน-ยาด-สะ-ชา-ดก)  ประกอบด้วยคำว่า ปัญญาส แปลว่า ห้าสิบ กับ คำว่า ชาดก ซึ่งหมายถึงเรื่องราวชีวิตของพระโพธิสัตว์ หรือ พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
        ก่อนที่จะทรงบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ๕๐ เรื่อง เขียนเป็นภาษาบาลี เป็นชีวิตของพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่าง ๆ ที่ได้บำเพ็ญบารมี คือ ทำความดีด้วยประการต่าง ๆ อย่างแน่วแน่ 
        เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและบำเพ็ญเพียรเพื่อให้พ้นความทุกข์ยากต่าง ๆ  การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ 
        เป็นตัวอย่างให้พุทธศาสนิกชนได้ทำตาม คิดตาม ยึดถือตาม เพื่อให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับชีวิต และพยายามหาวิธีพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม   
        ปัญญาสชาติชาดก   ที่แต่งขึ้นจากนิทานพื้นเมืองนี้  ไม่มีในพระไตรปิฎก  หรือเรียกว่า  ชาดกนอกนิบาต มีจำนวน 50 เรื่อง  
        พระภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้นเมื่อประมาณ  พ.ศ. 2000-2200  เป็นภาษามคธ โดยเลียนแบบนิบาตชาดก  
        ครั้นเมื่อ  พ.ศ.2443-2448  พระบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธ์  ดำรงตำแหน่งองค์สภานายก  หอพระสมุดสำหรับพระนคร  ได้ทรงแปลเป็นภาษาไทย  เรื่องปัญญาสชาดกจึงแพร่หลาย


องค์ประกอบของชาดก 
        ชาดกทุกเรื่องจะมีองค์ประกอบ 3 ประเภท  คือ
        1. ปรารภเรื่อง  คือบทนำเรื่องหรือ  อุบัติเหตุ  จะกล่าวถึงมูลเหตุหรือที่มาของชาดกเรื่องนั้น  เช่น  มหาเวสสันดรชาดก
        2. อดีตนิทาน  หรือ  ชาดก  หมายถึงเรื่องราวนิทานที่พระพุทธองค์ตรัสเล่า
        3. ประชุมชาดก  ประมวลชาดก  เป็นเนื้อความสุดท้ายของชาดกกล่าวถึงบุคคลในชาดก  คือผู้ใดที่กลับชาติเป็นใครบ้างในปัจจุบัน